Mongol in Thai!

Mongol in Thai!

Extremely excited to see my book in Thai language. Currently, we can see it on my Thai publisher’s website and I will post a photo of it as soon as I have it in my hand.

The publisher is Sanskrit Book and let’s hope this is the first of many languages!

 

มองโกล

Mongol

ผู้แต่ง : โอ๊กน่า แรมเซย์
ผู้แปล : นิลุบล พรพิทักษ์พันธุ์
ราคา 350  บาท 

หญิงสาวชาวมองโกเลีย เธอเกิดและเติบโตในกระโจมของครอบครัวมองโกลขนานแท้
กินเนื้อมาร์มอท กินโยเกิรต์ทำเองจากนมแพะ ต้มเหล้าวอดก้าและเรียนรู้เรื่องเลนิน เธอพบรักและย้ายมาอยู่สกอตแลนด์ ต้องเผชิญกับการสูญเสียลูก ท่ามกลางชีวิตที่อยู่ระหว่างสองวัฒนธรรม หนังสือที่ได้รับรางวัลจากสมาคมนักเขียนชาวสกอตแลนด์

เรื่องย่อ

ฉันเกิดในบ้านที่เราเรียกว่า กีร์ มันเป็นกระโจมทรงกลม
คลุมด้วยหนังสัตว์ กีร์ ของเราพิเศษกว่าใครๆ
เรามีเสาค้ำลวดลายงดงาม ตรงยอดหลังคามีช่อง
ที่เป็นเสมือนหน้าต่างบานเดียว เรากินเนื้อมาร์เมิต เราทำวอดก้าดื่มเอง
เรามีกองขี้วัวกองใหญ่อยู่นอกบ้าน สำหรับเรากลิ่นขี้วัวถือว่าเป็นเครื่องหอม

อูกานน่า แรมเซย์ หญิงสาวผู้ภาคภูมิใจ
ในวิถีชีวิตของชาวมองโกเลีย ดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่า
“ท้องฟ้าสีครามอันนิรันดร์”เธอผู้เกิดและเติบโตภายใต้กระโจม
ที่ต้องเคลื่อนย้ายไปตามท้องทุ่งกว้างในแต่ละฤดูกาล
ภายใต้ภูมิประเทศที่ขึ้นชื่อว่าหนาวเหน็บที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ชะตาชีวิตนำพาเธอข้ามวัฒนธรรมมาแต่งงานกับ
หนุ่มชาวสกอตและต้องสูญเสียลูกชายที่เกิดมาพร้อมกับอาการดาวน์ซินโดรม
อันถูกโยงใยว่าชนชาติมองโกลของเธอคือต้นกำเนิดของอาการผิดปรกติทางสมอง

ทดลองอ่าน

เราเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ใช่อย่างที่มันเป็น เราเห็นมันอย่างที่เราเป็น
อนาอิส นิน

“จูบหนูอีกทีสิคะ” ฉันบอกพ่อที่กำลังจะก้าวเท้าไปยังประตูขาออกของสนามบิน
กลาสโกว์ “ทำไมพ่อไม่จูบหน้าผากหนูอย่างเคยละคะ” ฉันอยากให้พ่อจูบปลอบประโลมอย่างที่ท่านเคยทำสมัยฉันยังเป็นเด็ก แต่พ่อคิดว่าการกอดฉันหลวมๆ อย่างประดักประเดิดที่เพิ่งทำเมื่อกี้ เป็นสิ่งที่คนที่นี่เขาทำกัน
เดือนมีนาคม นี่เป็นครั้งที่สองที่พ่อเดินทางออกจากสกอตแลนด์ในปีนี้ กลางเดือนมีนาคม ในกลาสโกว์ยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว อากาศมืดมัว ทั้งชื้นและลมแรง เราสองคนพ่อลูกพยายามกลั้นเต็มที่ที่จะไม่สะอื้นไห้ ในมองโกเลีย การร้องไห้
ตอนเอ่ยลาถือเป็นลางไม่ดี ปรกติแล้วฉันมักจะระงับอารมณ์ตัวเองได้ดีเมื่อต้องกล่าวคำลา ไม่ว่าจะกับพ่อหรือแม่ น้องสาวหรือสามี แต่ครั้งนี้มันยากเย็น
แสนเข็ญ จิตใจฉันอ่อนไหวเปราะบาง พร้อมที่จะหลั่งน้ำตาเป็นแกลลอน
พ่อเองก็คงรู้สึกเช่นเดียวกันเมื่อท่านจูบหน้าผากฉันเร็วๆ แล้วหันหลังให้ก่อนน้ำตาจะไหล ตอนท่านเดินจากไป ฉันเห็นท่านปาดน้ำตา ก่อนที่ท่านจะหันกลับมาโบกมือลาเป็นครั้งสุดท้าย

สามเดือนก่อน หลังจากบิลลี่เกิด ฉันคุยกับพ่อทางโทรศัพท์ “พ่อต้องมานะคะ หนูจะไม่ยกโทษให้เลย ถ้าพ่อไม่มา” ด้วยเหตุนี้ พ่อถึงยอมทิ้งงานทุกอย่างและเดินทางข้ามโลกจากดินแดนแสนห่างไกล– มองโกเลียนอก ประเทศที่ฉันเติบโตและพำนักอยู่ในช่วงยี่สิบเอ็ดปีแรกของชีวิต น้องสาวของฉันเล่าให้ฟังในภายหลังว่า พ่อพูดว่า “ลูกสาวฉันไม่ร้องไห้ง่ายๆ แต่เธอสะอื้นตอนพูดโทรศัพท์ ฉันต้องไป”
ตอนนั้น ฉันพักที่ห้องพิเศษในแผนกสูติ-นรีเวชของโรงพยาบาล ฉันขออยู่ห้องเดี่ยวตอนพวกเขาจะย้ายฉันจากห้องคลอด เพราะทนไม่ได้ที่เห็นบรรดาแม่ๆ มีความสุขกับทารกแรกเกิดที่สมบูรณ์แบบของพวกเขา
เมื่อฉันไปตรวจครรภ์ตามปรกติในวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน นักศึกษาแพทย์เป็นคนตรวจและบอกว่าเด็กไม่กลับหัว ลินน์ แพทย์สูตินรีเวชไม่แน่ใจ
จึงตรวจท้องฉันด้วยตัวเอง “ใช่ เด็กอยู่ในท่าไม่กลับหัว ถ้ารู้สึกตัวว่ามดลูกบีบตัวเมื่อไหร่ ให้โทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลทันทีและให้มาโรงพยาบาลเลย” สองสัปดาห์ต่อมาฉันถึงกำหนดคลอด และฉันไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่โตเพราะฉันเองก็คลอดในท่านี้เหมือนกัน โดยขาติดอยู่ในท้องแม่ข้างหนึ่ง ทำให้แม่คลอดลำบาก แม่คลอดฉันในชนบทของมองโกเลียช่วงทศวรรษ 1970 แต่ตอนนี้ ที่นี่คืออังกฤษ
ปี 2009 ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว พวกเขามีเครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัย ตลอดจนมีแพทย์ที่ชำนาญทางด้านนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ฉันคิดอย่างนั้น
คืนนั้น หลังจากเรากินอาหารจีนที่เราซื้อมาที่บ้านเสร็จแล้ว มดลูกฉันเริ่มบีบตัว ริชาร์ด สามีของฉันคว้ากุญแจรถไป “ไปโรงพยาบาลกันเถอะ คุณโทรศัพท์บอกพวกเขานะ ผมจะไปเตรียมเอารถออก” เรารีบไปโรงพยาบาลทันทีโดยฝากลูกอีกสองคนคือซาร่ากับไซมอนไว้กับแม่ของฉันที่เดินทางมาจากมองโกเลียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม่ถือชามใส่นม พลางใช้นิ้วจุ่มนมในชามแล้วพรมใส่ล้อรถและในอากาศ เป็นการขอพรให้ทุกอย่างเรียบร้อย ขอให้การคลอดราบรื่นตามธรรมเนียมและความเชื่อของชาวมองโกเลีย แม่ใส่ชุด ดีล สีเขียว (เสื้อพื้นเมืองของมองโกเลียตัวยาว ป้ายติดกระดุมข้าง) ท่าทางกังวล แม่ไม่อยากทำให้ใครระคายเคือง เมื่อมาอยู่ในวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ แม่พยายามหัดพูดภาษาอังกฤษ ท่านรู้สึกอ่อนไหว ทำอะไรไม่ได้ แต่ท่านเป็นคนฉลาด มีการศึกษา ท่านเป็นครูสอนชั้นมัธยมศึกษาในอูเลียสไท เมืองชนบทเล็กๆ ทางตะวันตกของประเทศมองโกเลีย
ผ่านไปแปดชั่วโมง ตีสองของเช้าวันต่อมา ก็ถึงเวลาผ่าคลอด ฉันรู้สึกตื่นเต้น
การผ่าตัดเทียบไม่ได้เลยกับการอยากเห็นหน้าลูก ช่างเป็นความรู้สึกที่ดีเหลือเกิน เมื่อฉันถูกบล็อกยาชากระดูกสันหลัง ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดฉันพร้อมที่จะเห็นหน้าลูกพร้อมกับสามีที่อยู่ข้างๆ ฉันและคอยจับมือฉันไว้ เราสองคนต่างตื่นเต้น ฉันรู้ว่าเขาเป็นห่วงที่เห็นภรรยาอยู่บนเตียงผ่าตัดที่ล้อมรอบไปด้วยศัลยแพทย์พยาบาลและวิสัญญีแพทย์
เมื่อบิลลี่ลืมตาดูโลก ลูกชายตัวน้อยของฉันหนักสองกิโลครึ่ง ตัวเล็กกว่าพี่ชายและพี่สาวของแกหนึ่งกิโล หมอตรวจอาการบิลลี่ทันทีเหมือนเด็กแรกคลอดตามปรกติริชาร์ดพยายามมองลูกจากจุดที่เขานั่ง แล้วอ้าปากค้างอย่างแทบ
ไม่อยากเชื่อสายตา “ผมแกสีบลอนด์!” ฉันส่งยิ้มให้สามี “มีปานมองโกเลียมั้ย”
คนมองโกเลียจะภูมิใจในปานแบบนี้ ทารกชาวเอเชียมักเกิดมาพร้อมปานสีเขียวที่เรียกว่าปานมองโกเลียตอนแรกเกิด ปานนี้จะค่อยๆ จางหายไปเองในไม่กี่เดือน หมอยังเย็บแผลให้ฉัน ฉันสังเกตร่องรอยกังวลใจบนใบหน้าของริชาร์ด พวกหมอยังยุ่งอยู่กับการตรวจบิลลี่ว่าแกเป็นปรกติดีหรือเปล่า แล้วตัดสินใจเอาตัวไปห้องอภิบาลทารกแรกเกิดภาวะวิกฤต ฉันส่งเสียงร้องขึ้นมาทันที “ขอฉันดูหน้าลูกก่อนพาตัวแกไปได้ไหมคะ” พวกเขาให้ฉันดูลูกห่างๆ ราวกับซ่อนอะไรไว้ แล้วรีบเอาตัวออกไป เราเริ่มเป็นห่วง เกิดอะไรขึ้นหรือนี่ ทำไมหมอถึงไม่พูดอะไร ฉันรู้สึกอกสั่นขวัญแขวน กลัวไปว่าลูกของฉันอาจมีดวงตาใหญ่ผิดปรกติ ตามธรรมดาดวงตาเฉียงของเด็กมองโกเลียจะค่อยๆ ปรากฏทีหลัง สองหรือสามชั่วโมงผ่านไป หลังจากการรอคอยอันแสนทรมาน พร้อมๆ กับการคอยถามข่าวจากพยาบาลที่เดินเข้ามา
ในที่สุดหมอกับพยาบาลก็มาคุยกับเรา ฉันเตรียมพร้อมสำหรับข่าวร้าย กลัวสิ่งที่จะได้ยิน แล้วทำไมหมอถึงใช้เวลานานนักกว่าจะบอกเราได้ ฉันได้ยินหมอพูดว่า “ลูกของคุณเป็น…ซินโดรม” ฉันฟังไม่ทัน แต่ริชาร์ดที่นั่งอยู่ข้างๆ ฉันยกมือขึ้นปิดหน้าและซบหน้าลงกับหัวเข่า นิ่งเงียบไป ฉันพยายามทำความเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร อยากรู้ว่าซินโดรมคืออะไร
ฉันยังอยู่บนเตียง แต่รู้สึกสับสนและตื่นตระหนกปนกับความหงุดหงิด จากบั้นเอวลงไปยังคงไร้ความรู้สึก เมื่อรู้ว่าพวกเขาพูดถึงอาการของดาวน์ซินโดรม ก็เกิดคำถามหลายร้อยอย่างวิ่งวนอยู่ในหัว “อาการนี้จะเป็นอยู่นานแค่ไหน” “มันหมายถึงอะไร” หมอกับพยาบาลมองเราด้วยสายตาที่สะท้อนความหมายว่า
‘น่าสงสารจริง’ หมอจับเข่าริชาร์ดเพื่อปลอบโยนและบอกเขาว่า “เรายังสรุปแน่นอนไม่ได้ แค่แจ้งสถานการณ์ให้คุณรู้ไว้ก่อน” เราโกรธที่พวกเขามาบอกข่าวนี้กับเราและไม่อยากจะเชื่อหูตัวเอง
ต่อมา เราไปดูบิลลี่ในห้องอภิบาลทารกแรกเกิด เขาอยู่ในตู้อบ ดูตัวเล็กและเหี่ยวย่นกว่าเด็กอื่นๆ เหลือเกิน แกมีเค้าของไซมอน พี่ชายของแกตอนแรกเกิด เพียงแต่เส้นผมของบิลลี่ออกสีแดง ขณะที่เส้นผมไซมอนสีดำ ทั้งสองมีปานเขียวที่ก้น บิลลี่ต้องต่อสายให้อาหารทางปาก ซึ่งดูไม่น่าสบายเลย
ริชาร์ดกับฉันรู้สึกกังวล โรงพยาบาลมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ข้างๆ เตียง
ผู้ป่วย ฉันค้นหาข้อมูลกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมทางเน็ตมาอ่านเท่าที่จะหาได้
จะได้รู้ว่าต้องทำยังไงเมื่อมีลูกที่มีความพิการ รวมถึงผลกระทบของมัน ฉันรู้เรื่องดาวน์ซินโดรมน้อยมาก ฉันไม่เคยรู้ว่ามันจะมีผลต่อเรามากน้อยแค่ไหน ยิ่งอ่านก็ยิ่งไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดเรื่องอย่างนี้กับเรา ฉันไม่อยากรับรู้อีกแล้ว มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้ เช่นปัญหาด้านการเงินหรือการว่างงาน แต่คุณไม่มีวันหลบหนีจากสถานการณ์นี้ไปได้ เราต้องยอมรับและอยู่กับมัน ฉันอยากจับตัวเองเขย่าเพื่อขจัดความเจ็บปวดนี้ออกไป ครอบครัวของเราทำอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจยอมรับและอยู่กับมัน แต่กระนั้น การทำใจให้ยอมรับสภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ริชาร์ดทำใจลำบากเช่นกัน ฉันอยู่ในห้องพักส่วนตัว จึงร้องไห้ตามลำพังได้
มีพยาบาลและหมอทำคลอดคอยให้กำลังใจ ในขณะที่ริชาร์ดต้องกลับบ้านและทำตัวเหมือนทุกอย่างเรียบร้อยดี แม่ของฉันคงตั้งตารอเขากลับไปพร้อมข่าวดีเรื่องลูกชายคนใหม่ของเรา ริชาร์ดพูดภาษามองโกเลียไม่ได้เลย ดูเหมือนเขาจะเจอทั้งเรื่องยากและเรื่องง่าย เขาไม่สามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นให้แม่ของฉันเข้าใจได้ แม้ซาร่าลูกสาวฉันจะพูดได้ทั้งสองภาษา แต่เรายังไม่อยากให้เด็กๆ ต้องเสียใจจนกว่าเราจะแน่ใจผลการตรวจของบิลลี่ คนที่ริชาร์ดปรึกษาได้คือแม่ของเขาเอง แต่ตอนนี้ท่านรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กำลังรอย้ายเข้าสถานพักฟื้น
ตอนสายวันนั้น ริชาร์ดพาลูกๆ กับแม่ของฉันมาเยี่ยมบิลลี่ ฉันดีที่ได้เจอซาร่ากับไซมอน แต่รู้สึกแย่มาก ตาฉันบวมและแดงก่ำเพราะร้องไห้ ฉันพยายามทำตัวสดชื่นรื่นเริงเพื่อลูกๆ และแม่ของฉัน ฉันมีรูปบิลลี่ เด็กๆ จึงได้เห็นน้องชายพวกเขาก่อนจะได้เห็นตัวจริง พวกแกตื่นเต้นมาก พากันเดินไปดูน้องที่ห้องทารกแรกเกิด เมื่อกลับมาพวกแกก็ถามว่าเมื่อไหร่ฉันกับบิลลี่จะกลับบ้านได้ ฉันบอกลูกว่าอีกสองสามวันถึงจะรู้
ริชาร์ดสแกนภาพบิลลี่ใส่ไว้ในเว็บไซต์ที่สร้างใหม่ตามชื่อมองโกเลียของบิลลี่ – ตอร์จ เพื่อให้เพื่อนๆ และญาติๆ ของฉันในมองโกเลียได้ดู ถ้าอยู่ในมองโกเลีย บรรดาน้าๆ หรืออาๆ ทั้งหลายจะมาเยี่ยมเรา ฉันดีใจที่ตอนนี้ฉันไม่ได้อยู่ในมองโกเลีย ฉันยังไม่สามารถเผชิญหน้าผู้คนโดยแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างเป็นปรกติดีได้ ฉันเคยคิดอยากจะอยู่ในมองโกเลียตอนคลอดไซมอนด้วย ฉันเห็นแม่คนอื่นๆ ได้รับดอกไม้ การ์ดอวยพร และลูกโป่งวางเต็มข้างเตียง ไซมอนกับฉันได้รับการ์ดที่ซาร่าทำจากนิตยสารมีคำอวยพรว่า “แข็งแรงไวๆ นะคะ” จนกระทั่งริชาร์ดหอบช่อดอกไม้แสนสวยมาให้
วันรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ เราได้พูดคุยกับหมอเจ้าของไข้ที่ดูแลเราและได้รับข่าวดี “เราต้องขอโทษที่เมื่อวานนี้เราทำให้คุณต้องเครียดและกังวล เราคิดว่า
ลูกของคุณไม่ได้เป็นดาวน์ซินโดรม เราอาจสับสนจากภูมิหลังและลักษณะทางกายภาพของคุณ” ฉันกับริชาร์ดรู้สึกโล่งอกขึ้นมาทันที ทุกอย่างดูสดใส หายใจได้คล่องขึ้น หมอพูดต่อ “วันพรุ่งนี้ เราจะขอเจาะเลือดลูกชายคุณตรวจเพื่อให้แน่ใจอีกที เรามั่นใจว่าผลจะเป็นลบ” เราดีใจแต่ก็ไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียว เราแทบจะอดใจรอวันจันทร์ไม่ไหว เราอาจจะได้ใช้ชีวิตตามปรกติของเราได้